หนังญี่ปุ่นเรื่อง “แฮปปี้เนส” ได้สอนให้รู้ว่า การใช้เทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาความโศกเศร้ามันยิ่งทำให้ชีวิตย่ำแย่ลง

ยินดีต้อนรับเข้าสู่คอลัมน์ “กระดาษโกงเกม (Cheat Sheet)” คอลัมน์ที่จะมาวิเคราะห์แยกส่วนหนังที่ฉายในเทศกาลต่างๆ งานเปิดตัววีอาร์ และงานอีเวนต์พิเศษอื่นๆอีกมากมาย บทวิจารณ์นำมาจากงานฉายภาพยนตร์เอเชียที่นิวยอร์ก หรืองาน New York Asian Film Festival นั่นเอง

หนังญี่ปุ่นเรื่อง “แฮปปี้เนส” เปรียบเหมือนกับการขับรถสีดำทะมึน บนถนนที่มุ่งไปสู่เงามืดอย่างช้าๆ ยิ่งขับไปลึกเท่าไร ก็ยิ่งมองไม่เห็นแสงมากเท่านั้น จากนั้น หน้าต่างก็เลื่อนลงมา เผยให้เห็นใบหน้าคนขับที่จ้องมองผู้ชมอย่างไม่กระพริบ แล้วก็ขับรถหายไปในพริบตา ทิ้งไว้ซึ่งความรู้สึกอึ้งอย่างบอกไม่ถูกแก่ผู้ชม
เหมือนในหนังเรื่องนี้ที่ไม่ยอมอธิบายความเป็นมาเป็นไปของตัวละครหลักให้ผู้ชมเข้าใจเลย รู้เพียงแค่เป็นชายหนุ่มไว้ผมทรงเอลวิส เพรสลีย์ ที่เอาแต่คร่ำครวญกับเรื่องราวต่างๆ น่าสงสารเนอะ เพราะว่าจุดแข็งของหนังเรื่องนี้คือการที่ค่อยๆเผยเรื่องราวของตัวละคร การเล่าเรื่องที่ค่อยๆสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชม และรู้สึกไปกับตัวละครนั้นๆ ความเงียบ วังเวงที่แผ่ซ่านไปทั่วตัวหนัง และการใช้ความเนือยให้กับหนังเพื่อเอาไปขยี้ในฉากไคลแมกซ์ ขณะที่เสียงบรรยากาศรอบๆทำหน้าที่สะท้อนอารมณ์ ความนึกคิดของตัวเอกให้ผู้ชมเห็น หนังเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีดนตรี เพราะหนังใช้ความเงียบมาทำให้หนังดูเป็นสัจนิยม ซึ่งก็เป็นประโยชน์แก่ท้องเรื่องที่มีความเป็นแฟนตาซีหน่อยๆเหมือนกัน

แล้วมันแนวไหนล่ะ เรื่องนี้?
แนวอินดี้ ลึกลับ ที่มีส่วนประกอบของเครื่องมือที่รวมเอานวนิยายไซไฟกับแพทย์แผนโบราณของเอเชียเข้ามาไว้ด้วยกัน

เรื่องมันเป็นยังไง?
เนื้อเรื่องจะพูดถึงหมวกกันน็อกลึกลับใบหนึ่งที่ติดแป้นตัวอักษรพิมพ์ดีดสีทองไว้เต็มหมวก พร้อมด้วยระบบปฏิบัติการอยู่ภายในหมวกเพื่อฝังภาพเสมือนจริงเข้าสู่สมองผู้สวมใส่ หน้าตามันเหมือนหมวกใส่กับรถจักรยานยนต์ที่ดูออกจะดุดันหน่อยๆ ประดิษฐ์โดยชายชื่อว่า คันซากิ (รับบทโดย มาซาโตชิ นางาเสะ)หมวกนี้ได้ดึงดูดให้ผู้สนใจเข้ามาชมมันมากมายหลักจากเขาประกาศสรรพคุณของมันออกไป ว่าสามารถทำให้ผู้สวมใส่มีความสุขตลอดโดยการลบความจำในอดีตได้ แม้ว่าผู้คนแถวนั้นจะคลางแคลงใจในตัวเขากับหมวกใบนั้นอยู่ หมวกใบนั้นก็สามารถพิสูจน์ให้ผู้คนเห็นว่ามันสามารถดึงเอาความทรงจำที่ชวนให้รำลึกถึงความหลังครั้งอดีตของผู้ใช้ออกมาได้ แม่ผู้มีลูกที่ไม่เอาไหน ได้ย้อนกลับไปเห็นวันที่ลูกลืมตาดูโลก หัวเราะคิกคักอยู่ในเปลนอนอีกครั้ง อิชิดะ ผู้ที่สวมหมวกและเห็นตัวเองกำลังตีโฮมรันได้จากเสียเชียร์ของแฟนคลับ ต่อมา คันซากิจึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นฮีโร่ที่มาช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น คันซากิก็ยังเป็นตัวละครที่เข้าใจได้ยากอยู่ ชีวิตส่วนตัวและอดีตของเขายังคงเป็นความลับอยู่ แต่เมื่อเขาต้องมารักษาอิโนะอุเอะ นักโทษวัยรุ่นที่ถูกขังเดี่ยว ด้วยลักษณะท่าทางของเขา คันซากิก็ได้ขอเวลาส่วนตัวพูดคุยกับอิโนะอุเอะ หลังจากจุดนี้ไป หนังก็เริ่มดำดิ่งเข้าสู่ภายในชีวิตส่วนตัวของคันซากิ

แล้วมันเกี่ยวกับอะไรกันแน่?
แรงจูงใจในการสร้างหมวกใบนี้ของคันซากิ คงไม่ใช่ทำไปเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรอก หนังเรื่องนี้จะสื่อให้เห็นว่าความสุขและความเศร้ามันคาบเกี่ยวกันยังไง และอธิบายว่าความทรงจำที่ขมขื่นที่สุดของคนๆหนึ่ง กลับกลายเป็นความทรงจำที่สุขที่สุดได้อย่างไร “แฮปปี้เนส” เป็นหนังที่จะสำรวจเข้าไปถึงความรุนแรงทางอารมณ์ การบาดเจ็บทางจิตใจ ความรู้สึกลึกลับที่ค่อยๆก่อตัวขึ้น การไร้อำนาจ (ความเชื่อของญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ชื่อ โชอุกาไน แปลว่า ช่วยอะไรไม่ได้) เยาวชนที่ทำตัวไม่เหมาะสมและความขุ่นเคือง

แล้วมันดีรึเปล่า?
“แฮปปี้เนส” เกือบจะเป็นหนังที่ดูสนุก แต่ด้วยการที่มันชอบโยนฉากที่ดูแล้วอธิบายไม่ได้ว่ามันคืออะไรอยู่หลายครั้ง การปูตัวละครที่เนิบช้า กว่าจะเข้าสำรวจชีวิตส่วนตัวของตัวละคร ก็ปาเข้าไปใกล้จบแล้ว สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผู้ชมไม่ได้รู้สึกเอาใจช่วยตัวละครในเรื่องเลย ดูหนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนดูภาพวาดที่แห้งแล้ง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เหมือนกับเราได้อ่านนิยายฆาตรกรรมสืบสวนสอบสวนของอกาธา คริสตี้เรื่อง “ตายยกเกะ” กับนิยายเรื่อง “คดีฆ่าหั่นศพ Out” ของนัตซึโอะ คิริโนะ ที่ว่าด้วยหญิงวัยกลางคนทำการฝังเพื่อนร่วมงานที่ช่วยกันฆ่าสามีของเธอเอง นิยายเหล่านี้มันเต็มไปด้วยการหักมุมแบบ หักแล้วหักอีก หักแต่ละที เลือดออกซิบๆเป็นแถบ ฉะนั้น “แฮปปี้เนส” จึงเป็นหนังที่ให้ความรู้สึกก้ำกึ่งระหว่าง สนุกมากจนน่าติดตาม กับ น่าเบื่อหน่าย
จุดที่ผิดพลาดในการเล่าเรื่องก็ปราฏออกมาให้เห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ ที่คันซากิเดินทอดน่องเข้าไปในร้านค้าที่ถูกทิ้งร้างและไปเห็นหญิงชรานั่งขดตัวอยู่ตรงหัวมุม เขาออกจากร้านนั้น และกลับมาใหม่พร้อมกับหมวกหวนไห้ถึงอดีตของเขา ซาบุ มือเขียนบท เขาทำให้ฉากนี้รู้สึกเหมือนกับว่า มันดูเร่งรีบไป ฉากแรกก็เผยให้เห็นหมวกนี่แล้วหรือ? ไม่มีที่มาที่ไปเกริ่นก่อนเลย มันถูกใส่เข้ามาในหนังอย่างกับนิยายไซไฟราคาถูก หญิงชราที่เศร้าโศกเหลือคณา ถูกจับเข้าเครื่องบรรเทาทุกข์ในรูปแบบของหมวกมหัศจรรย์อย่างทันทีทันใดแบบนี้หรือ? แล้วเธอก็กลับมาหัวเราะเคล้าน้ำตาได้อีกครั้ง มันดูหยาบคายและน่าอึดอัดใจอย่างบอกไม่ถูกเลย
ซาบุเลือกที่จะใช้ความเงียบมาแทนเป็นคำพูด กล้องแช่อยู่ที่หน้าของคันซากิ พยายามถ่ายทอดความเครียด ระส่ำระส่ายในใจออกมา แล้วก็ตัดกล้องไปสู่แผนการขั้นต่อไปของเขาอย่างรวดเร็ว แบบนี้มันก็ได้ผลอยู่บ้างในบางฉาก แต่ไม่ใช่ทุกฉาก เช่นเดียวกับการแช่กล้องให้เห็นการเดินขึ้นบันไดเป็นสิบๆขั้นของคันซากิ หรือเช่นเดียวกันกับการแช่กล้องไว้ที่หน้าคันซากิ เพื่อให้เห็นน้ำตาของเขาที่ไหลออกมาตอนที่เขาอยู่บนรถเมล์ ฉากเหล่านี้ดูแล้วให้ความรู้สึก ไม่จบไม่สิ้นสักที “แฮปปี้เนส” มีความยาวแค่ 91 นาที แต่ดูจริงกลับรู้สึกว่า มันยาวกว่านั้น
ช่วงที่ดีที่สุดในหนัง: คือช่วงที่ย้อนอดีตเพื่ออธิบายถึงแก่นของหนัง ฉากต่อสู้สุดเจ๋ง และฉากการประดิษฐ์หมวกของเขา เยี่ยมยอด! ด้วยความที่เป็นหนังทุนต่ำ ฉากพวกนี้จึงออกมาแค่ช่วงสั้นๆเพื่อกันงบบานปลาย

ควรจัดเรทที่เท่าไหร่ดี?
หนังเรื่องนี้ได้เรทอาร์จากฉากโหดที่โผล่มาแบบพร่ำเพรื่อ แต่ฉากพวกนั้นมีน้อยมากจนคิดว่า ถ้าไม่นับฉากโหดๆแล้ว ฉากที่เหลือทั้งเรื่อง ได้แค่เรทจีก็เพียงพอแล้ว

จะหาดูได้จากไหน?
“แฮปปี้เนส” ออกฉายที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2016 และฉายจำกัดโรงในอเมริกา